“ธันเดอร์เฮด” ทีมแข่งอังกฤษคว้าชัยศึกหฤโหด “บุรีรัมย์ 4 ชั่วโมง”ผงาดแชมป์ เอเชียน เลอมังส์ 2019/2020 สนามสุดท้าย
ศึก เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์ ปิดฉากสนามสุดท้ายอย่างดุเดือด ในรายการ “บุรีรัมย์ 4 ชั่วโมง” โดยต้องลุ้นแชมป์จนนาทีสุดท้าย ผลปรากฏว่ารถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ทีมแข่งจากอังกฤษสร้างผลงานระดับมาสเตอร์เข้าคลาสสูงสุด แอลเอ็มพีทู ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ขณะแชมป์ประจำปีเป็นของ จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ หมายเลข 26 ที่เก็บแต้มเหนือรองแชมป์เพียงคะแนนเดียวเท่านั้น หลังจบเรซสุดโหดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบเอ็นดูรานซ์ระดับโลก รายการ เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์ 2019/2020 (Asian Le Mans Series) ดวลความเร็วสนามสุดท้ายในรายการ “บุรีรัมย์ 4 ชั่วโมง” (4 Hours of Buriram) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยเกมในเรซนี้มีความหมายอย่างยิ่งเพื่อตัดสินแชมป์ในทุกคลาส ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง แอลเอ็มพีทู (LMP2), แอลเอ็มพีทรี (LMP3) และ จีที (GT)
รุ่นใหญ่ แอลเอ็มพีทู (LMP2) กริดสตาร์ทในเรซนี้มีรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง เป็นเจ้าของโพล หลังจากที่ เบน บาร์นิโคท นักขับอังกฤษ กดเวลาต่อรอบเร็วที่สุด 1 นาที 22.758 วินาที ทุบสถิติสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ลงอย่างราบคาบ (สถิติเดิมเป็นของ ไดกิ ซาซากิ นักขับญี่ปุ่นในศึก ซูเปอร์จีที จีที500 ปี 2014 เวลาต่อรอบ 1 นาที 25.441 วินาที) ส่วนกริดที่ 2 และ 3 เป็นของรถแข่งหมายเลข 1 และ 36 จาก ยูเรเซีย มอเตอร์สปอร์ต
ออกสตาร์ทเรซในเวลา 11.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ด้วยการโรลลิ่งสตาร์ทกับการรักษาจังหวะอย่างยอดเยี่ยมของเจ้าของโพลที่ขับโดย แจ็ค แมนเชสเตอร์ นักขับอังกฤษที่ทำหน้าที่เป็นนักขับไม้แรกของรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ตามด้วย ฉวน ตง นักขับจีนจาก เคทู อูชิโนะ เรซซิ่ง รถแข่งหมายเลข 96 ในอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 ในช่วงแรกเป็นของ โรเบอร์โต เมอร์ฮี นักขับสแปนิชจาก ยูเรเซีย มอเตอร์สปอร์ต หมายเลข 36 ขณะที่ นาบูยะ ยามานากะ นักขับญี่ปุ่นคนแรกของ ยูเรเซีย หมายเลข 1 เจ้าของกริดที่ 2 มีปัญหาในช่วงออกตัวส่งผลให้ร่วงลงไปรั้งท้ายในกลุ่ม แอลเอ็มพีทู
ผ่าน 45 นาทีแรกผู้นำอย่างรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง เข้าพิตตามกลยุทธ์โดยเปลี่ยนให้ แฮร์รี ทิงค์เนล นักขับอังกฤษอีกคนลงมาเป็นไม้ที่สอง ขณะที่อันดับมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเมื่อ จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ หมายเลข 26 จ่าฝูงบนตารางคะแนนสะสมไล่บี้ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 จากการขับของ เจมส์ เฟรนช์ นักขับอเมริกัน โดยตามหลังอยู่ 11 วินาที ในช่วงชั่วโมงแรกของการแข่งขัน
เกมเข้าสู่ช่วง 2 ชั่วโมง 40 นาที สุดท้าย รถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ผู้นำเข้าพิตเพื่อเซอร์วิสรถแข่งและเปลี่ยนตัวนักขับมาให้ แจ็ค แมนเชสเตอร์ ลงไปทำหน้าที่อีกครั้ง ขณะที่อันดับ 2 อย่าง จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ หมายเลข 26 ก็ตามเข้าพิตมาในอีกไม่กี่วินาที ก่อนจะเปลี่ยนตัวส่ง เลียวนาด ฮูเกนบูม นักขับดัตช์ลงไปทำหน้าที่ต่อ ด้วยระยะห่าง 12.269 วินาที ขณะที่อันดับ 3 เปลี่ยนมาเป็นของรถแข่งหมายเลข 34 จาก อินเตอร์ ยูโรโพล เอ็นดูรานซ์ ซึ่งขับโดย แม็ตธิอัส เบเช ตามผู้นำ 26.890 วินาที
จุดเปลี่ยนของเรซเกิดขึ้นในช่วง 2 ชั่วโมง 30 นาทีสุดท้าย เมื่อเรซไดเร็กเตอร์ต้องสั่งโบกธงเหลืองรอบแทร็ก เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยที่โค้ง 3 ส่งผลให้ระยะห่างจากผู้นำและอันดับ 2 ร่นลงมาเหลือ 8 วินาที จากนั้นหลังผ่านไปอีก 3 รอบ เลียวนาด ฮูเกนบูม ได้ควบรถแข่งของ จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ ไล่เข้าไปติดหัวแถวเหลือเพียง 5 วินาทีเท่านั้น ส่งผลให้การลุ้นแชมป์ดุเดือดอย่างมาก
หลังผ่าน 2 ชั่วโมงแรก เลียวนาด ฮูเกนบูม ตัดสินใจพารถแข่งของ จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ เข้าพิตเพื่ออันเดอร์คัตผู้นำ และพวกเขาก็ทำสำเร็จด้วยการขยับขึ้นเป็นหัวแถวได้สำเร็จ ส่วน รถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง เข้าพิตหลังจากนั้นและเปลี่ยนให้ แฮร์รี ทิงค์เนล ลงมาทำหน้าที่ต่อ แต่ต้องร่วงลงไปถึงอันดับ 3
อย่างไรก็ดี ในช่วงชั่วโมงสุดท้าย รถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ส่ง เบน บาร์นิโคท ผู้ทำเวลาเร็วที่สุดของทีมลงมาไล่บี้ในช่วงท้าย และขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ตามหลัง โรมัน รูซินอฟ ผู้นำจาก จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ เหลือ 19 วินาที พร้อมกับทำเวลาบี้เข้าไปรอบละราว 1 วินาที ส่งผลให้ต้องมาลุ้นแชมป์สนามนี้กันในช่วงท้ายเรซอย่างสุดมัน
55 นาทีสุดท้าย จุดเปลี่ยนของเรซเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อรถแข่งแอลเอ็มพีทู หมายเลข 36 จาก ยูเรเซีย มอเตอร์สปอร์ต พลาดหลุดโค้ง 3 จนร่วงลงไปในบ่อกรวด ส่งผลให้เรซไดเร็กเตอร์สั่งตีธงเหลืองรอบแทร็ก ทำให้รถแข่งกลุ่มนำกลับมาติดกันอีกครั้ง กลับมาดวลกันอีกครั้งจน บาร์นิโคท ขยับเข้าจี้เหลือเพียง 1 วินาที
ความพยายามของ เบน บาร์นิโคท มาสำเร็จ เมื่อสามารถขยับแซง โรมัน รูซินอฟ พาทีมรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ขึ้นเป็นผู้นำได้อีกครั้งในช่วง 30 นาทีสุดท้าย โดยในช่วงท้าย รูซินอฟ เป็นฝ่ายตัดสินใจเข้าพิตเพื่อเติมน้ำมันก่อน จากนั้น บาร์นิโคท ตามเข้าพิตในอีก 2 รอบถัดมา
จบการแข่งขันสุดโหดของ เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์ รายการ “บุรีรัมย์ 4 ชั่วโมง” ผู้ชนะสนามนี้ตกเป็นของรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง ที่เข้าป้ายเป็นคันแรกหลังผ่าน 4 ชั่วโมงเต็ม โดยขับไปทั้งสิ้น 157 รอบสนาม คิดเป็น 714.978 กิโลเมตร เหนืออันดับ 2 อย่างรถแข่งหมายเลข 26 จาก จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ อยู่ 17.721 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นของ เคทู อูชิโนะ เรซซิ่ง ตามหลังแชมป์ 2 รอบสนาม
อย่างไรก็ดี แม้ รถแข่งหมายเลข 26 จาก จี-ไดรฟ์ เรซซิ่ง บาย อัลการ์ฟ จะเข้าป้ายเป็นคันที่ 2 ในสนามสุดท้ายแต่ยังเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาผงาดคว้าแชมป์ เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์ 2019/2020 หลังสิ้นฤดูกาล โดยคว้าไปทั้งสิ้น 83 คะแนน เฉือนรถแข่งหมายเลข 45 จาก ธันเดอร์เฮด คาร์ลิน เรซซิ่ง รองแชมป์ในปีนี้เพียงแต้มเดียวเท่านั้น
ด้านผู้ชนะในคลาส แอลเอ็มพีทรี ตกเป็นของรถแข่งหมายเลข 12 จาก เอซวัน วิลลอร์บา คอร์เซ ที่ขับโดยสองนักขับอิตาเลียนอย่าง เดวิด ฟูมาเนลลี และ อเลสซานโดร เบรนซาน ร่วมงานกับ อันเดรียส ลาสคาราตอส ทีมเมทชาวกรีซ ที่ออกนำม้วนเดียวจบ 4 ชั่วโมงเต็มหลังควบไปทั้งสิ้น 146 รอบสนาม เหนืออันดับ 2 อย่าง รถแข่งหมายเลข 2 จาก นีลเซ่น เรซซิ่ง อยู่ 28.458 วินาที ขณะที่อันดับ 3 ตกเป็นของรถแข่งหมายเลข 8 จาก ทีมกราฟฟ์ ตามหลัง 1 รอบสนาม โดยแชมป์ประจำปีในคลาส แอลเอ็มพีทรี ประจำฤดูกาล 2019/2020 ตกเป็นของ นีลเซ่น เรซซิ่ง หมายเลข 2 ที่เก็บไปทั้งสิ้น 75 คะแนน เหนืออันดับ 2 อย่างแชมป์สนามนี้ รถแข่งหมายเลข 12 จาก เอซวัน วิลลอร์บา คอร์เซ อยู่ 13 คะแนน
ขณะที่ผู้ชนะในคลาส จีที ของสนามนี้ตกเป็นของ รถแข่งหมายเลข 27 จาก ฮับออโต คอร์ซ่า ที่ขับโดย ทิม สเลด และ เลียม ทัลโบต์ สองนักขับออสเตรเลียน ร่วมงานกับ มาร์กอส โกเมส นักขับบราซิเลียนนำม้วนเดียวจบด้วยจำนวนรอบทั้งสิ้น 144 รอบสนาม ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างรถแข่งหมายเลข 7 จาก คาร์กาย ถึง 2 รอบสนาม ส่วนอันดับ 3 เป็นของรถแข่งหมายเลข 51 จาก สปิริต ออฟ เรซ ตามหลัง 2 รอบสนาม โดยแชมป์ประจำปีของคลาสจีทีตกเป็นของ ฮับออโต คอร์ซ่า เก็บไปทั้งสิ้น 71 คะแนน เหนืออันดับ 2 อย่าง คาร์กาย อยู่ 7 คะแนน
สำหรับ ศึก เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์ นับเป็นการแข่งขันเอ็นดูรานซ์ที่มีการขับเคี่ยวสุดโหด ในระดับเดียวกันกับ เวิลด์ เอ็นดูรานซ์ แชมเปี้ยนชิพ โดยแชมป์ประจำปีในแต่ละคลาสจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันระดับตำนานของโลกอย่าง เลอมังส์ 24 ชั่วโมงในแต่ละปีด้วย ขณะที่ไทยรองรับการแข่งขันรายการนี้มาแล้ว 6 ปี ติดต่อกัน ซึ่ง สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทยนั้นพร้อมเป็นเจ้าภาพเพื่อเอาใจแฟนมอเตอร์สปอร์ตไทยต่อไป